พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน

พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน
๕ ธันวาคม ๒๕๕๔

นายประกอบ จันทรทิพย์

นายประกอบ จันทรทิพย์
ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานีเขต 2

วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2553

ศิษย์เก่าโรงเรียนบ้านปะโค เลขประจำตัว 2681



ชื่อ เด็กชายสมคิด โภคาพานิชย์
เลขประจำตัว 2681
เกิดวันที่ 2 มีนาคม 2500
เข้าเรียนเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2507 ชั้นประถมปีที่ 1
ออกจากโรงเรียนเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2511
เหตุที่ออก จบชั้นสูงสุดของโรงเรียน
ก่อนออกจากโรงเรียน สอบไล่ได้ชั้นประถมปีที่ 4
ได้คะแนนร้อยละ 87
การเล่าเรียน ดี
ความประพฤติ เรียบร้อย

สอนประวัติศาสตร์อย่างไรไม่ให้น่าเบื่อ



ในการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ หากถามนักเรียนหลาย ๆ คน มักจะบอกว่าเป็นวิชาท่องจำ ต้องอ่านมาก ต้องจำมากทำให้น่าเบื่อหน่าย ไม่เห็นสนุกเลย ตอนที่ผู้เขียนเป็นหัวหน้าหมวดสังคมศึกษา มีลูกน้องหมวดบางคน กล่าวว่า อย่าให้สอนประวัติศาสตร์เลยหัวหน้า เพราะเด็กจะเบื่อง่าย ง่วงง่ายไม่อยากสอน ก็พยายามนิเทศแนะนำเขา เพราะเท่าที่ผู้เขียนสอนวิชาประวัติศาสตร์มานับสิบปีนักเรียนส่วนใหญ่ก็ชอบและตั้งใจเรียนดี เพราะ เราไม่ได้สอนแบบท่องจำ หรือบังคับให้นักเรียนนั่งอ่านหนังสือ ขอเรียนย้ำว่า อย่าท่องจำและอย่าออกข้อสอบเป็นตัวเลขโดยเด็ดขาด แต่ให้นักเรียนเข้าใจสาเหตุ ปัจจัย กระบวนการ และจุดเด่น ของแต่ละยุคสมัยของประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์อาจจะมีเงื่อนไขของมิติเวลา เป็นกรอบระยะเหตุการณ์ที่ศึกษา หากนักเรียนเข้าใจ สิ่งเหล่านั้น ( พ.ศ.) ก็จะจำโดยอัตโนมัติ

ขั้นตอนการเตรียมการสอน สิ่งแรกที่นักเรียนควรรู้ คือเราควรให้นักเรียนรู้จักตนเองก่อนแล้วค่อย ๆ ขยายไปสู่การรู้จักจังหวัด ประเทศ เพื่อนบ้านตามลำดับ ซึ่งการสอนต้องกระทำดังนี้

1.การเขียนแผนการสอนที่กระชับชัดเจน ไม่ยืดเยื้อ 1 แผน ต่อ 1 หัวข้อ เน้นการวิเคราะห์ปฏิบัติ ด้วย ตัวเอง แล้วใช้งานกลุ่มในการสอนในลำดับต่อไป

2.ให้นักเรียนเข้าใจวิธีการประวัติศาสตร์ ด้วยการศึกษาง่าย ๆ เช่น ค้นหาบรรพบุรุษของตนในสามชั่วคน ให้งานกลุ่มค้นคว้าประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จากนั้น สรุปร่วมกันว่าว่า เราเรียนประวัติศาสตร์เพื่ออะไรทำให้นักเรียนเข้าใจด้วยการปฏิบัติด้วยตนเอง

3.บูรณาการวิชาวาดเขียน เรียงความ การเล่าเรื่องตำนาน ประกอบการสอนประวัติศาสตร์ มาใช้ในการสอน เช่น นำไปวาดรูปโบราณสถานในท้องถิ่น นำภูมิปัญญาท้องถิ่น มาเล่านิทานตำนาน มุขปาฐะให้นักเรียนฟัง

4.นำนักเรียนทัศนศึกษาในสถานที่ใกล้ ๆ โรงเรียน หรือแหล่งโบราณคดีในท้องถิ่น แล้วสรุปเป็นรายงาน บทความ รวมทั้งจัดนิทรรศการในชั้นเรียน

5.จัดการแสดงละครประวัติศาสตร์ หรือละครพื้นบ้านท้องถิ่น ในกิจกรรมวันสำคัญต่างของโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ในขั้นสูงจดจำและเข้าใจได้ง่าย

6.การวัดผล ไม่ควรออกข้อสอบเป็น พ.ศ.เป็นตัวเลข ความจำ แต่ให้นักเรียนเข้าใจว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหนอย่างไร ทำไมถึงทำอย่างนั้น เป็นข้อเขียน ผสมเลือกตอบ สำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และให้เขียนตอบสำหรับระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย

ในช่วงที่ผู้เขียนสอนอยูในโรงเรียนกู่แก้ววิทยา จังหวัดอุดรธานี นั้น การสอนรายวิชาประวัติศาสตร์ในขั้นแรก ผู้เขียนจะให้นักเรียน สืบค้น บรรพบุรุษของตนว่ามาจากไหน เพื่ออธิบายสาแหรกของการอพยพของคนอุดรธานี ในยุคแรก ในสมัยรัชกาลที่ 1 และ การอพยพในช่วงสมัยจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งมีการทำไร่อ้อยอย่างกว้างขวาง บรรพบุรุษของนักเรียนส่วนใหญ่มาจากตอนกลางของอีสาน ส่วนกลุ่มบุคคลที่ตั้งถิ่นฐานอยู่โดยรอบหนองหานกุมภวาปี มาจากเวียงจันทร์ในสมัยรัชกาลที่ 1 และ 2 เมื่อนักเรียนได้คำตอบแล้วก็จะนำมาอธิบายวิธีการทางประวัติศาสตร์ ว่าสิ่งที่นักเรียนค้นคว้าสอดคล้องกันอย่างไร

เมื่อจบเรื่องวิธีการทางประวัติศาสตร์แล้วก็เข้าสู่การเรียนการสอนเรื่องการแบ่งยุคทางประวัติศาสตร์ บังเอิญว่า โรงเรียนผู้เขียนนั้นอยู่ใกล้กับ แหล่งโบราณคดี ทั้งยุคก่อนประวัติศาสตร์ และยุคประวัติศาสตร์

ยุคก่อนประวัติศาสตร์
1.บ้านเชียง บ้านนาดี บ้านพังซ่อน บ้านคอนสาย อำเภอหนองหานและอำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี

ยุคประวัติศาสตร์

2.บ้านดอนแก้ว อำเภอกุมภวาปี เมืองหนองหาน วัดกู่แก้วรัตนาราม อำเภอหนองหาน

การเรียนการสอนยุคก่อนประวัติศาสตร์ นำนักเรียนไปทัศนศึกษาบ้านเชียง ซึ่งอยู่ห่างจากโรงเรียนประมาณ 28 กิโลเมตร นักเรียนสามารถเรียนรู้และเข้าใจได้เป็นอย่างดีโดยมีผู้ให้ความรู้ที่เชี่ยวชาญเป็นวิทยากร

การเรียนการสอนในยุคประวัติศาสตร์ ได้แก่ คูเมืองหนองหาน สมัยขอม ศิลาจารึกสมัย

ทวารวดี ที่ดอนแก้ว กุมภวาปี ก่อนนำนักเรียนไปทัศนศึกษา ครูต้องมีใบความรู้ และประเมินผลก่อนเรียนเสมอ

แหล่งโบราณคดีที่อยู่ใกล้โรงเรียน 100 เมตร คือ วัดกู่แก้วรัตนาราม เป็น อโรคยาศาล สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งมีร่องรอย ปราสาทศิลาแลงและทับหลังเทพแห่งการแพทย์ เป็นศิลปะขอมสมัยบายน หรือไทยเรียกว่า ศิลปลพบุรี มีร่องรอยของศิลปะล้านช้างยุคหลัง เป็นพระพุทธรูปไม้เจดีย์เก่า มีโบสถ์ และศาลาการเปรียญที่สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ สามารถใช้เป็นสื่อในการสอนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นได้สามยุคคือ

1.อีสานยุคอาณาจักรขอม

2.อีสานในยุคอาณาจักรล้านช้าง

3.อีสานในยุครัตนโกสินทร์

ในขั้นแรกผู้เขียนจะให้นักเรียนไปวาดภาพ ในวัดก่อน ว่าประทับใจจุดไหน จากนั้นให้นักเรียนค้นคว้า ตำนานโบราณของท้องถิ่นที่เกี่ยวกับสถานที่นี้มาเล่าให้เพื่อนฟัง เมื่อนักเรียนเสนองานแล้ว จึงแจกใบความรู้แก่นักเรียน แล้วแบ่งกลุ่มศึกษาเพิ่มเติมทั้ง 3 ยุค รวมกันเป็น ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างย่อ

การเรียนการสอนโดยให้นักเรียนได้ปฏิบัติสืบค้นด้วยตนเองเป็นหัวใจของการศึกษาประวัติศาสตร์ อย่างแท้จริง อย่างไรก็ดี เทคนิคการเล่าเรื่อง คำพูดของครูที่เน้น ตั้งคำถามให้นักเรียนสงสัย ช่วยกระตุ้นให้นักเรียน มีแรงพลังในการศึกษามากขึ้น

การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่ใกล้ตัวก่อน จะทำให้นักเรียนสนใจมากกว่าสิ่งที่ไกลตัว นักเรียนสามารถเข้าใจวิธีการประวัติศาสตร์ได้ง่ายและไม่น่าเบื่อหน่าย

ผู้เขียน เกื้อกูล ขวัญทอง กศ.ม.( ประวัติศาสตร์ ) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

คอย



คอย
สองมือน้อยวอนฟ้าหาแม่พ่อ
กี่ปีรอแม่พ่อมาทำนาไหม
อยู่โรงเรียนเขียนอ่านได้อะไร
เมื่อกลับบ้านร้างไร้คนดูแล
เก็บความเหงาที่ก่อรอพ่อกลับ
หัวใจยับหวังอุ่นจากอกแม่
ลูกอยู่นี้ใครเล่าเขาเหลียวแล
ผู้เฒ่าแก่เกินเข้าใจวัยอ่อนเยาว์
เงินได้มามากมายลูกไม่หวัง
ขออ้อมแขนโอบรั้งให้คลายเหงา
ความร่ำรวยหลายหลากไม่อยากเอา
ขอเพียงเราพ่อแม่ลูกอยู่ผูกพัน
สองมือน้อยวอนฟ้าหาแม่พ่อ
เงินทำนาไม่พอจึงผกผัน
พ่อแม่ลูกทิ้งร้างห่างสัมพันธ์
ที่ราบสูงเงียบงันกลั้นน้ำตา


ศานติศุกร์ ตุลา

วันเสาร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2553

ข้อมูลตำบลปะโค




<
ประวัติความเป็นมา

ตำบลปะโค เป็นตำบลแรกของอำเภอกุมภวาปี แยกบางส่วนไปเขตอำเภอโนนสะอาด และเขตอำเภอหนองแสง
สภาพทั่วไปของตำบล พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง
อาณาเขตตำบล

ทิศเหนือ ติดต่อกับ ต.พันดอน อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ทิศใต้ ติดต่อกับ ต.โพธิ์ศรีสำราญ อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ต.ตูมใต้, ต.ห้วยเกิ้ง อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ทิศตะวันตก ติดด่อกับ ต.นาดี อ.หนองแสง จ.อุดรธานี
จำนวนประชากรของตำบลจำนวนประชากรในเขต อบต. ๑๑,๔๖๗คน ชาย ๕,๗๔๕ หญิง ๕,๗๒๗และจำนวนหลังคาเรือน ๒,๓๕๐ หลังคาเรือน
ข้อมูลอาชีพของตำบล
อาชีพหลัก ทำนา
อาชีพเสริม ผลิตภัณฑ์แปรรูปเสื่อกก รับจ้าง
สินค้าOTOP น้ำตาล(อ้อย) ทำตุ๊กตาส่งออก
สถานที่ท่องเที่ยว หนองปะโค
ที่พัก นิวรีสอร์ท หมู่ 5 บ้านป่าหวาย the palete รีสอร์ท หนองฮาว หมู่ 6
หน่วยงานราชการ เทศบาลตำบลปะโค ที่ทำการ อบต.ปะโค

ข้อมูลสถานที่สำคัญของตำบล

วัดทุ่งสว่างบ้านปะโค
สถานีอนามัย ๒ แห่ง
สถานศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง โรงเรียนประถม 6 แห่ง
วิทยาลัยการอาชีพกุมภวาปี วิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ

ผู้นำท้องถิ่น
ชื่อ กำนัน ทองมี ชัยพล
ชื่อหมู่บ้าน ชื่อผู้ใหญ่บ้าน
๑. บ้านปะโค นายทองมี ชัยพล
๒. บ้านดงน้อย นายวิไสย์ แก้วกล้า
๓. บ้านเหมือดแอ่ นายบุตรดี โคตรวงศ ์
๔.บ้านบุ่งหมากลาน นายพิมพ์ เพชรสา
๕. บ้านป่าหวาย นายหนูแสง พลทามูล
๖. บ้านหนองฮาว นายสมเด็จ โคจร
๗. บ้านหนองหญ้ารังกานายคำผัด ทศร้าง
๘. บ้านนาทน นายหา หงส์สิงห์ทอง
๙. บ้านปะโค นายสุรพล โภคาพานิช
๑๐. บ้านเกิ้ง นายเพ็ง สุนศรี
๑๑.บ้านห้วยขุมปูน นายสวัสดิ์ อสุรินทร์
๑๒.บ้านมุ่งหมากลาน นายวีรชัย สุเพ็ญสิน
๑๓.บ้านดงน้อย นายประเสริฐ เหนืองชมพู
๑๔.บ้านทับล้อ นายคำพัน ตะโคสี
๑๕. บ้านปะโค นายรุตย์ เศษวงศ์
๑๖.บ้านปะโค นายปรีชา สารพันธ์

ข้อมูลจาก

http://multimedia.udru.ac.th/otop51/Suna/pako.php



วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2553

ปะโควันนี้












ปะโควันนี้
หวังศิษย์ทุกที่กลับมาดูแล
แดนถิ่นดินเกิดกำเนิดพ่อแม่
ยังไม่ผันแปรมีรักอุ่นไอ

โรงเรียนบ้านปะโค ต้อนรับผู้อำนวยการคนใหม่



นายสมคิด โภคาพานิชย์ ผู้อำนวยการคนใหม่ของโรงเรียนบ้านปะโค ได้เข้ามารับตำแหน่งในวันที่ 19 มกราคม 2553
โรงเรียนบ้านปะโคและชุมชนบ้านปะโค ร่วมแสดงความยินดี ที่ลูกบ้านปะโคได้กลับมาพัฒนาบ้านตนเอง

วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2553

นักเรียนบ้านปะโคเข้าอบรมทักษะการเป็นผู้นำ


นักเรียนช่วงชั้นที่ 3 เข้าร่วมอบรมทักษะ ความเป็นผู้นำ ณ มณฑลทหารบกที่ 24 อุดรธานี โดยความร่วมมือระหว่างมูลนิธิรักษ์ไทยและโรงเรียนบ้านปะโค วันที่ 18 - 24 ธันวาคม 2552 มีครูรัชนีกร กุมพลและครูกฤติยา สิริบุตรวงศ์เข้าร่วมดูแลนักเรียน

วันเด็กบ้านปะโค



โรงเรียนบ้านปะโคจัดงานวันเด็ก ในวันที่ 9 มกราคม 2552 แจกทุนนักเรียน 2,1000 บาท จำนวน 79 ทุน มีขนมของขวัญการแสดงนักเรียนสนุกสนาน ผู้ปกครองเข้าร่วมหน้าชื่นตาบาน

การส่งเสริมการเรียนการสอนแบบโครงงาน


การส่งเสริมการเรียนการสอนแบบโครงงาน ( Project Design )

การบริหารงานวิชาการให้ประสบผลสำเร็จ ถือว่าเป็นงานที่ท้าทายของผู้บริหาร ที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือเป้าประสงค์ของผู้รับบริการและหน่วยงานต้นสังกัดโดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ความถนัด ความรู้และภูมิปัญญาของชุมชน ที่จะนำมาบูรณาการให้เข้ากับหลักสูตรการเรียนการสอนในกลุ่มสาระต่าง ๆ หรือเราเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “หลักสูตรท้องถิ่น “
โรงเรียนบ้านปะโคอำเภอกุมวาปี จังหวัดอุดรธานี เป็นโรงเรียนที่ประสบผลสำเร็จในการส่งเสริมให้นักเรียนนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอน เป็นรูปแบบการเรียนการสอนแบบโครงงานวิทยาศาสตร์ที่มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ค้นหาความสามารถ ความถนัด และความสนใจของตนเองในด้านต่าง ๆ มาจากแนวคิดพื้นฐานของการเรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
(Child Center) และการเรียนรู้ตามสภาพจริง โดยมีการศึกษาหลักการ และวิธีเกี่ยวกับโครงงานที่เลือกศึกษา วิเคราะห์ วางแผนการทำงาน ลงมือทำงาน และปรับปรุง เพื่อให้งานบรรลุตามวัตถุประสงค์ ในกระบวนการเรียนการสอนได้ใช้ทักษะกระบวนการ สอดแทรกคุณธรรม ทำงานเป็นกลุ่ม ฝึกปฏิบัติจริง เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม มีครูเป็นผู้ชี้แนะ ให้คำปรึกษาตลอดเวลา เน้นฝึกคนให้แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง

ประโยชน์ของการจัดทำโครงงาน

1.ทำงานตามความถนัด ความสนใจของตนเอง
2.ฝึกทักษะกระบวนการทำงานด้วยตนเอง หรือร่วมกันทำงานเป็นกลุ่ม
3.สามารถวางแผนการทำงานเป็นระบบ
4.พัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
5.ศึกษา ค้นคว้า และแก้ปัญหาจากการทำงาน
6.เป็นสิ่งยืนยันว่าเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในโครงงานที่ทำจริง ในกรณีที่ต้องนำแสดงต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง

ความหมายของโครงงานโครงงาน หมายถึง การกำหนดรูปแบบในการทำงานอย่างเป็นระเบียบ มีกระบวนการทำงานที่ชัดเจน เพื่อให้สามารถผลิตชิ้นงาน และ ผลงานที่สัมพันธ์กับหลักสูตรและนำไปใช้ประโยชน์กับชีวิตจริง

ประเภทของโครงงาน แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ

1. ประเภทการศึกษาทดลอง เป็นการศึกษาเปรียบเทียบหรือพิสูจน์ความจริงตามหลัก
วิชาการอย่างเป็นเหตุเป็นผลหรือค้นหาข้อเท็จจริงในสิ่งที่ต้องการรู้ เช่น แสงมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช, อาหารพื้นบ้านกับการเจริญเติบโตของไก่
2. ประเภทสำรวจข้อมูล เป็นการสำรวจรวบรวมข้อมูลแล้วนำข้อมูลนั้น ๆ มาจำแนกเป็นหมวดหมู่ และนำเสนอในรูป แบบต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนหรือพัฒนางาน หรือปรับปรุงงาน เช่น การสำรวจการขาดสารไอโอดีนในชุมชน, การสำรวจการเรียนต่อของเยาวชนอำเภอสำโรงทาบ ในปี 2542
3. ประเภทสิ่งประดิษฐ์ เป็นการผลิตชิ้นงานใหม่ และศึกษาคุณภาพ ประสิทธิภาพ ประโยชน์คุณค่าของชิ้นงานนั้น ๆ เช่น เครื่องฟักไข่, ระบบน้ำหยดเพื่องานเกษตรโดยใช้กระป๋องน้ำมันเครื่อง
4. ประเภทพัฒนาผลงาน เป็นการค้นคว้าหรือพัฒนาชิ้นงานให้สามารถใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น หรือมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่น การประดิษฐ์อุปกรณ์นับจำนวนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์, การประดิษฐ์เครื่องโรยขนมจีน
บทบาทของผู้เรียน การสอนแบบโครงงาน (Project Design)
1.ค้นคว้าและฝึกฝน การเขียนโครงงาน โครงงาน
2.ศึกษาข้อมูลของสิ่งที่ศึกษาให้เข้าใจและจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ
3.วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาวางแผนจัดทำสิ่งใหม่
4.ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้ได้แผนงานที่ดีที่สุด
5.เขียนโครงงานวางแผนการทำงาน
6.ปฏิบัติตามโครงงานให้สำเร็จลุล่วงหรือพัฒนาต่อเนื่องจากพบกับอุปสรรค
7. ประเมินผลโครงงาน

สำหรับโครงงานของโรงเรียนบ้านปะโคเป็นโครงงานวิทยาศาสตร์ประเภททดลองและประดิษฐ์ โดยใช้ภูมิปัญญาของท้องถิ่นเข้ามาประสมประสาน ซึ่งมี
คุณครู นันทิยา พิทักษ์รัตนชนม์
ครูอุราวัลย์ นามสมบูรณ์ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านปะโค และทีมงาน
เป็นผู้ฝึกสอนนักเรียน โครงการของนักเรียนที่ทำไปแล้วประสบความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ ได้แก่

1.โครงงานประเภททดลอง

1.1 โครงงานกระเตี้ยวหมวยประหยัดพลังงานได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับช่วงชั้นที่ 3จากมูลนิธิพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่จังหวัดนครราชสีมา ในปี การศึกษา 2551
1.2.โครงงานกระติ๊บข้าวมหัศจรรย์ ได้รับรางวัลเหรียญเงิน ระดับชาติ ระดับประถมศึกษา จากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2552
2.โครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์
2.1โครงงานเครื่องแกะข้าวโพด จากวัสดุท้องถิ่น ได้รับรางวัลเหรียญทอง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุดรธานีเขต 2 และเป็นตัวแทนเข้าประกวดระดับภาคที่จังหวัดอุบลราชธานี
2.2 โครงงานน้ำตกแต่งสวนจากวัสดุท้องถิ่น ได้รับรางวัลเหรียญทอง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุดรธานีเขต 2 และเป็นตัวแทนเข้าประกวดระดับภาคที่จังหวัดอุบลราชธานี
3.โครงงานประเภทพัฒนาผลงาน ได้แก่ การทำข้าวเกรียบโบราณโดยประยุกต์ให้ใช้สีสมุนไพรธรรมชาติแสดงในงานประชุมครูอาเซียน ในเดือน กุมภาพันธ์ 2552 ณ โรงแรมเจริญโอเต็ล จังหวัดอุดรธานี


การได้รับรางวัลและการได้แสดงในระดับชาติดังกล่าว แสดงให้เห็นของศักยภาพของนักเรียน ครูและการบริหารจัดการทางวิชาการที่แสดงถึงความสำเร็จหลายประการกล่าวคือ

1.นักเรียนได้ประสบผลสำเร็จในการค้นคว้าจัดทำโครงงานสามารถฝึกฝนจนสามารถคิด วิเคราะห์ได้ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของการเรียนการสอน
2.ความสามารถของครูผู้ถ่ายทอด ที่ได้นำความรู้และหลักการเรียนการสอนอย่างถูกต้องและเป็นกระบวนการมีการบูรณาการระหว่างครูภาษาอังกฤษ ครูการงานอาชีพ และครูวิทยาศาสตร์
กล่าวคือ ครูการงานมีความรู้เรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น ครูวิทยาศาสตร์เข้าใจหลักการทางวิทยาศาสตร์ และครูภาษาอังกฤษสอนให้นักเรียนรายงานอธิบายโครงการเป็นภาษาต่างประเทศ ทำให้นักเรียนมีความรู้ในสามรายวิชาโดยเป็นธรรมชาติและกลมกลืน
3.ความสำเร็จในความร่วมมือกับชุมชน ในการให้ผู้มีความรู้หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ช่วยสอนนักเรียน จนทำให้นักเรียนสามารถนำมาต่อยอดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ได้
4.การส่งเสริมและการเอาใจใส่ของผู้บริหารในการสนับสนุนให้งานและโครงการได้รับงบประมาณและเผยแพร่ต่อเครือข่าย ชุมชนและผู้รับบริการ

อย่างไรก็ตามการจัดการเรียนการสอนสอนให้นักเรียนได้รู้จักคิดวิเคราะห์ด้วยการเรียนการสอนแบบโครงงานนั้นเราจำเป็นต้องพัฒนาอีกมากเนื่องจากเด็กไทยยังเคยชินกับการออกคำสั่ง และครูเองยังใช้ตนเองเป็นศูนย์กลางเป็นส่วนใหญ่ ความสำเร็จของนักเรียนไทยอาจกล่าวได้ว่ายังต้องใช้เวลาอีกหลายปี จึงจะเข้าใจการเรียนรู้และคิดวิเคราะห์ได้ด้วยตนเองอย่างแท้จริง


อ้างอิง

เว็บไซด์
www.suphet.com/index.php
สัมภาษณ์
นันทิยา พิทักษ์รัตนชนม์ . ผู้ให้สัมภาษณ์ เกื้อกูล ขวัญทอง ผู้สัมภาษณ์ สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2552 ณ โรงเรียนบ้านปะโค ตำบลปะโค อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี