พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน

พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน
๕ ธันวาคม ๒๕๕๔

นายประกอบ จันทรทิพย์

นายประกอบ จันทรทิพย์
ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานีเขต 2

วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2553

สอนประวัติศาสตร์อย่างไรไม่ให้น่าเบื่อ



ในการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ หากถามนักเรียนหลาย ๆ คน มักจะบอกว่าเป็นวิชาท่องจำ ต้องอ่านมาก ต้องจำมากทำให้น่าเบื่อหน่าย ไม่เห็นสนุกเลย ตอนที่ผู้เขียนเป็นหัวหน้าหมวดสังคมศึกษา มีลูกน้องหมวดบางคน กล่าวว่า อย่าให้สอนประวัติศาสตร์เลยหัวหน้า เพราะเด็กจะเบื่อง่าย ง่วงง่ายไม่อยากสอน ก็พยายามนิเทศแนะนำเขา เพราะเท่าที่ผู้เขียนสอนวิชาประวัติศาสตร์มานับสิบปีนักเรียนส่วนใหญ่ก็ชอบและตั้งใจเรียนดี เพราะ เราไม่ได้สอนแบบท่องจำ หรือบังคับให้นักเรียนนั่งอ่านหนังสือ ขอเรียนย้ำว่า อย่าท่องจำและอย่าออกข้อสอบเป็นตัวเลขโดยเด็ดขาด แต่ให้นักเรียนเข้าใจสาเหตุ ปัจจัย กระบวนการ และจุดเด่น ของแต่ละยุคสมัยของประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์อาจจะมีเงื่อนไขของมิติเวลา เป็นกรอบระยะเหตุการณ์ที่ศึกษา หากนักเรียนเข้าใจ สิ่งเหล่านั้น ( พ.ศ.) ก็จะจำโดยอัตโนมัติ

ขั้นตอนการเตรียมการสอน สิ่งแรกที่นักเรียนควรรู้ คือเราควรให้นักเรียนรู้จักตนเองก่อนแล้วค่อย ๆ ขยายไปสู่การรู้จักจังหวัด ประเทศ เพื่อนบ้านตามลำดับ ซึ่งการสอนต้องกระทำดังนี้

1.การเขียนแผนการสอนที่กระชับชัดเจน ไม่ยืดเยื้อ 1 แผน ต่อ 1 หัวข้อ เน้นการวิเคราะห์ปฏิบัติ ด้วย ตัวเอง แล้วใช้งานกลุ่มในการสอนในลำดับต่อไป

2.ให้นักเรียนเข้าใจวิธีการประวัติศาสตร์ ด้วยการศึกษาง่าย ๆ เช่น ค้นหาบรรพบุรุษของตนในสามชั่วคน ให้งานกลุ่มค้นคว้าประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จากนั้น สรุปร่วมกันว่าว่า เราเรียนประวัติศาสตร์เพื่ออะไรทำให้นักเรียนเข้าใจด้วยการปฏิบัติด้วยตนเอง

3.บูรณาการวิชาวาดเขียน เรียงความ การเล่าเรื่องตำนาน ประกอบการสอนประวัติศาสตร์ มาใช้ในการสอน เช่น นำไปวาดรูปโบราณสถานในท้องถิ่น นำภูมิปัญญาท้องถิ่น มาเล่านิทานตำนาน มุขปาฐะให้นักเรียนฟัง

4.นำนักเรียนทัศนศึกษาในสถานที่ใกล้ ๆ โรงเรียน หรือแหล่งโบราณคดีในท้องถิ่น แล้วสรุปเป็นรายงาน บทความ รวมทั้งจัดนิทรรศการในชั้นเรียน

5.จัดการแสดงละครประวัติศาสตร์ หรือละครพื้นบ้านท้องถิ่น ในกิจกรรมวันสำคัญต่างของโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ในขั้นสูงจดจำและเข้าใจได้ง่าย

6.การวัดผล ไม่ควรออกข้อสอบเป็น พ.ศ.เป็นตัวเลข ความจำ แต่ให้นักเรียนเข้าใจว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหนอย่างไร ทำไมถึงทำอย่างนั้น เป็นข้อเขียน ผสมเลือกตอบ สำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และให้เขียนตอบสำหรับระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย

ในช่วงที่ผู้เขียนสอนอยูในโรงเรียนกู่แก้ววิทยา จังหวัดอุดรธานี นั้น การสอนรายวิชาประวัติศาสตร์ในขั้นแรก ผู้เขียนจะให้นักเรียน สืบค้น บรรพบุรุษของตนว่ามาจากไหน เพื่ออธิบายสาแหรกของการอพยพของคนอุดรธานี ในยุคแรก ในสมัยรัชกาลที่ 1 และ การอพยพในช่วงสมัยจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งมีการทำไร่อ้อยอย่างกว้างขวาง บรรพบุรุษของนักเรียนส่วนใหญ่มาจากตอนกลางของอีสาน ส่วนกลุ่มบุคคลที่ตั้งถิ่นฐานอยู่โดยรอบหนองหานกุมภวาปี มาจากเวียงจันทร์ในสมัยรัชกาลที่ 1 และ 2 เมื่อนักเรียนได้คำตอบแล้วก็จะนำมาอธิบายวิธีการทางประวัติศาสตร์ ว่าสิ่งที่นักเรียนค้นคว้าสอดคล้องกันอย่างไร

เมื่อจบเรื่องวิธีการทางประวัติศาสตร์แล้วก็เข้าสู่การเรียนการสอนเรื่องการแบ่งยุคทางประวัติศาสตร์ บังเอิญว่า โรงเรียนผู้เขียนนั้นอยู่ใกล้กับ แหล่งโบราณคดี ทั้งยุคก่อนประวัติศาสตร์ และยุคประวัติศาสตร์

ยุคก่อนประวัติศาสตร์
1.บ้านเชียง บ้านนาดี บ้านพังซ่อน บ้านคอนสาย อำเภอหนองหานและอำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี

ยุคประวัติศาสตร์

2.บ้านดอนแก้ว อำเภอกุมภวาปี เมืองหนองหาน วัดกู่แก้วรัตนาราม อำเภอหนองหาน

การเรียนการสอนยุคก่อนประวัติศาสตร์ นำนักเรียนไปทัศนศึกษาบ้านเชียง ซึ่งอยู่ห่างจากโรงเรียนประมาณ 28 กิโลเมตร นักเรียนสามารถเรียนรู้และเข้าใจได้เป็นอย่างดีโดยมีผู้ให้ความรู้ที่เชี่ยวชาญเป็นวิทยากร

การเรียนการสอนในยุคประวัติศาสตร์ ได้แก่ คูเมืองหนองหาน สมัยขอม ศิลาจารึกสมัย

ทวารวดี ที่ดอนแก้ว กุมภวาปี ก่อนนำนักเรียนไปทัศนศึกษา ครูต้องมีใบความรู้ และประเมินผลก่อนเรียนเสมอ

แหล่งโบราณคดีที่อยู่ใกล้โรงเรียน 100 เมตร คือ วัดกู่แก้วรัตนาราม เป็น อโรคยาศาล สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งมีร่องรอย ปราสาทศิลาแลงและทับหลังเทพแห่งการแพทย์ เป็นศิลปะขอมสมัยบายน หรือไทยเรียกว่า ศิลปลพบุรี มีร่องรอยของศิลปะล้านช้างยุคหลัง เป็นพระพุทธรูปไม้เจดีย์เก่า มีโบสถ์ และศาลาการเปรียญที่สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ สามารถใช้เป็นสื่อในการสอนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นได้สามยุคคือ

1.อีสานยุคอาณาจักรขอม

2.อีสานในยุคอาณาจักรล้านช้าง

3.อีสานในยุครัตนโกสินทร์

ในขั้นแรกผู้เขียนจะให้นักเรียนไปวาดภาพ ในวัดก่อน ว่าประทับใจจุดไหน จากนั้นให้นักเรียนค้นคว้า ตำนานโบราณของท้องถิ่นที่เกี่ยวกับสถานที่นี้มาเล่าให้เพื่อนฟัง เมื่อนักเรียนเสนองานแล้ว จึงแจกใบความรู้แก่นักเรียน แล้วแบ่งกลุ่มศึกษาเพิ่มเติมทั้ง 3 ยุค รวมกันเป็น ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างย่อ

การเรียนการสอนโดยให้นักเรียนได้ปฏิบัติสืบค้นด้วยตนเองเป็นหัวใจของการศึกษาประวัติศาสตร์ อย่างแท้จริง อย่างไรก็ดี เทคนิคการเล่าเรื่อง คำพูดของครูที่เน้น ตั้งคำถามให้นักเรียนสงสัย ช่วยกระตุ้นให้นักเรียน มีแรงพลังในการศึกษามากขึ้น

การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่ใกล้ตัวก่อน จะทำให้นักเรียนสนใจมากกว่าสิ่งที่ไกลตัว นักเรียนสามารถเข้าใจวิธีการประวัติศาสตร์ได้ง่ายและไม่น่าเบื่อหน่าย

ผู้เขียน เกื้อกูล ขวัญทอง กศ.ม.( ประวัติศาสตร์ ) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น