พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน

พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน
๕ ธันวาคม ๒๕๕๔

นายประกอบ จันทรทิพย์

นายประกอบ จันทรทิพย์
ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานีเขต 2

วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2553

การส่งเสริมการเรียนการสอนแบบโครงงาน


การส่งเสริมการเรียนการสอนแบบโครงงาน ( Project Design )

การบริหารงานวิชาการให้ประสบผลสำเร็จ ถือว่าเป็นงานที่ท้าทายของผู้บริหาร ที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือเป้าประสงค์ของผู้รับบริการและหน่วยงานต้นสังกัดโดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ความถนัด ความรู้และภูมิปัญญาของชุมชน ที่จะนำมาบูรณาการให้เข้ากับหลักสูตรการเรียนการสอนในกลุ่มสาระต่าง ๆ หรือเราเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “หลักสูตรท้องถิ่น “
โรงเรียนบ้านปะโคอำเภอกุมวาปี จังหวัดอุดรธานี เป็นโรงเรียนที่ประสบผลสำเร็จในการส่งเสริมให้นักเรียนนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอน เป็นรูปแบบการเรียนการสอนแบบโครงงานวิทยาศาสตร์ที่มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ค้นหาความสามารถ ความถนัด และความสนใจของตนเองในด้านต่าง ๆ มาจากแนวคิดพื้นฐานของการเรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
(Child Center) และการเรียนรู้ตามสภาพจริง โดยมีการศึกษาหลักการ และวิธีเกี่ยวกับโครงงานที่เลือกศึกษา วิเคราะห์ วางแผนการทำงาน ลงมือทำงาน และปรับปรุง เพื่อให้งานบรรลุตามวัตถุประสงค์ ในกระบวนการเรียนการสอนได้ใช้ทักษะกระบวนการ สอดแทรกคุณธรรม ทำงานเป็นกลุ่ม ฝึกปฏิบัติจริง เน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม มีครูเป็นผู้ชี้แนะ ให้คำปรึกษาตลอดเวลา เน้นฝึกคนให้แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง

ประโยชน์ของการจัดทำโครงงาน

1.ทำงานตามความถนัด ความสนใจของตนเอง
2.ฝึกทักษะกระบวนการทำงานด้วยตนเอง หรือร่วมกันทำงานเป็นกลุ่ม
3.สามารถวางแผนการทำงานเป็นระบบ
4.พัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
5.ศึกษา ค้นคว้า และแก้ปัญหาจากการทำงาน
6.เป็นสิ่งยืนยันว่าเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในโครงงานที่ทำจริง ในกรณีที่ต้องนำแสดงต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง

ความหมายของโครงงานโครงงาน หมายถึง การกำหนดรูปแบบในการทำงานอย่างเป็นระเบียบ มีกระบวนการทำงานที่ชัดเจน เพื่อให้สามารถผลิตชิ้นงาน และ ผลงานที่สัมพันธ์กับหลักสูตรและนำไปใช้ประโยชน์กับชีวิตจริง

ประเภทของโครงงาน แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ

1. ประเภทการศึกษาทดลอง เป็นการศึกษาเปรียบเทียบหรือพิสูจน์ความจริงตามหลัก
วิชาการอย่างเป็นเหตุเป็นผลหรือค้นหาข้อเท็จจริงในสิ่งที่ต้องการรู้ เช่น แสงมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช, อาหารพื้นบ้านกับการเจริญเติบโตของไก่
2. ประเภทสำรวจข้อมูล เป็นการสำรวจรวบรวมข้อมูลแล้วนำข้อมูลนั้น ๆ มาจำแนกเป็นหมวดหมู่ และนำเสนอในรูป แบบต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนหรือพัฒนางาน หรือปรับปรุงงาน เช่น การสำรวจการขาดสารไอโอดีนในชุมชน, การสำรวจการเรียนต่อของเยาวชนอำเภอสำโรงทาบ ในปี 2542
3. ประเภทสิ่งประดิษฐ์ เป็นการผลิตชิ้นงานใหม่ และศึกษาคุณภาพ ประสิทธิภาพ ประโยชน์คุณค่าของชิ้นงานนั้น ๆ เช่น เครื่องฟักไข่, ระบบน้ำหยดเพื่องานเกษตรโดยใช้กระป๋องน้ำมันเครื่อง
4. ประเภทพัฒนาผลงาน เป็นการค้นคว้าหรือพัฒนาชิ้นงานให้สามารถใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น หรือมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่น การประดิษฐ์อุปกรณ์นับจำนวนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์, การประดิษฐ์เครื่องโรยขนมจีน
บทบาทของผู้เรียน การสอนแบบโครงงาน (Project Design)
1.ค้นคว้าและฝึกฝน การเขียนโครงงาน โครงงาน
2.ศึกษาข้อมูลของสิ่งที่ศึกษาให้เข้าใจและจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ
3.วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาวางแผนจัดทำสิ่งใหม่
4.ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้ได้แผนงานที่ดีที่สุด
5.เขียนโครงงานวางแผนการทำงาน
6.ปฏิบัติตามโครงงานให้สำเร็จลุล่วงหรือพัฒนาต่อเนื่องจากพบกับอุปสรรค
7. ประเมินผลโครงงาน

สำหรับโครงงานของโรงเรียนบ้านปะโคเป็นโครงงานวิทยาศาสตร์ประเภททดลองและประดิษฐ์ โดยใช้ภูมิปัญญาของท้องถิ่นเข้ามาประสมประสาน ซึ่งมี
คุณครู นันทิยา พิทักษ์รัตนชนม์
ครูอุราวัลย์ นามสมบูรณ์ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านปะโค และทีมงาน
เป็นผู้ฝึกสอนนักเรียน โครงการของนักเรียนที่ทำไปแล้วประสบความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ ได้แก่

1.โครงงานประเภททดลอง

1.1 โครงงานกระเตี้ยวหมวยประหยัดพลังงานได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับช่วงชั้นที่ 3จากมูลนิธิพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่จังหวัดนครราชสีมา ในปี การศึกษา 2551
1.2.โครงงานกระติ๊บข้าวมหัศจรรย์ ได้รับรางวัลเหรียญเงิน ระดับชาติ ระดับประถมศึกษา จากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2552
2.โครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์
2.1โครงงานเครื่องแกะข้าวโพด จากวัสดุท้องถิ่น ได้รับรางวัลเหรียญทอง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุดรธานีเขต 2 และเป็นตัวแทนเข้าประกวดระดับภาคที่จังหวัดอุบลราชธานี
2.2 โครงงานน้ำตกแต่งสวนจากวัสดุท้องถิ่น ได้รับรางวัลเหรียญทอง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุดรธานีเขต 2 และเป็นตัวแทนเข้าประกวดระดับภาคที่จังหวัดอุบลราชธานี
3.โครงงานประเภทพัฒนาผลงาน ได้แก่ การทำข้าวเกรียบโบราณโดยประยุกต์ให้ใช้สีสมุนไพรธรรมชาติแสดงในงานประชุมครูอาเซียน ในเดือน กุมภาพันธ์ 2552 ณ โรงแรมเจริญโอเต็ล จังหวัดอุดรธานี


การได้รับรางวัลและการได้แสดงในระดับชาติดังกล่าว แสดงให้เห็นของศักยภาพของนักเรียน ครูและการบริหารจัดการทางวิชาการที่แสดงถึงความสำเร็จหลายประการกล่าวคือ

1.นักเรียนได้ประสบผลสำเร็จในการค้นคว้าจัดทำโครงงานสามารถฝึกฝนจนสามารถคิด วิเคราะห์ได้ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของการเรียนการสอน
2.ความสามารถของครูผู้ถ่ายทอด ที่ได้นำความรู้และหลักการเรียนการสอนอย่างถูกต้องและเป็นกระบวนการมีการบูรณาการระหว่างครูภาษาอังกฤษ ครูการงานอาชีพ และครูวิทยาศาสตร์
กล่าวคือ ครูการงานมีความรู้เรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น ครูวิทยาศาสตร์เข้าใจหลักการทางวิทยาศาสตร์ และครูภาษาอังกฤษสอนให้นักเรียนรายงานอธิบายโครงการเป็นภาษาต่างประเทศ ทำให้นักเรียนมีความรู้ในสามรายวิชาโดยเป็นธรรมชาติและกลมกลืน
3.ความสำเร็จในความร่วมมือกับชุมชน ในการให้ผู้มีความรู้หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ช่วยสอนนักเรียน จนทำให้นักเรียนสามารถนำมาต่อยอดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ได้
4.การส่งเสริมและการเอาใจใส่ของผู้บริหารในการสนับสนุนให้งานและโครงการได้รับงบประมาณและเผยแพร่ต่อเครือข่าย ชุมชนและผู้รับบริการ

อย่างไรก็ตามการจัดการเรียนการสอนสอนให้นักเรียนได้รู้จักคิดวิเคราะห์ด้วยการเรียนการสอนแบบโครงงานนั้นเราจำเป็นต้องพัฒนาอีกมากเนื่องจากเด็กไทยยังเคยชินกับการออกคำสั่ง และครูเองยังใช้ตนเองเป็นศูนย์กลางเป็นส่วนใหญ่ ความสำเร็จของนักเรียนไทยอาจกล่าวได้ว่ายังต้องใช้เวลาอีกหลายปี จึงจะเข้าใจการเรียนรู้และคิดวิเคราะห์ได้ด้วยตนเองอย่างแท้จริง


อ้างอิง

เว็บไซด์
www.suphet.com/index.php
สัมภาษณ์
นันทิยา พิทักษ์รัตนชนม์ . ผู้ให้สัมภาษณ์ เกื้อกูล ขวัญทอง ผู้สัมภาษณ์ สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2552 ณ โรงเรียนบ้านปะโค ตำบลปะโค อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น